วันพืชมงคล
Image
  • ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

            พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

            พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

         ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

         สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้น แต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

         ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า

         "การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมนิยม มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสี เลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้นั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์ แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและหาทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด"